เครื่องยนต์สั่นเกิดจากสาเหตุอะไร แก้ไขอย่างไรได้บ้าง ?

เครื่องยนต์สั่น เกิดจากสาเหตุอะไร แก้ไขอย่างไรได้บ้าง ?

หากคุณเคยเจอกับเหตุการณ์ที่ว่าขับรถอยู่ดีๆ ก็รู้สึกเหมือนรถของคุณมีอาการสั่นผิดปกติ เดินเบาไม่เรียบ มีอาการกระตุก หรือที่เรียกกันว่าอาการ เครื่องยนต์สั่น ไม่ว่าจะตอนเร่งความเร็ว หรือตอนขับปกติ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าถึงเวลาที่ต้องตรวจสภาพรถกันแล้วแหละครับ

ซึ่งปัญหาเครื่องยนต์สั่นในขณะขับนี้อาจจะดูเหมือนไม่ร้ายแรงมาก แต่ก็ไม่ควรปล่อยไว้นะครับ ควรเช็คให้แน่ใจว่า เครื่องยนต์สั่นเกิดจากสาเหตุอะไร จะได้รีบทำการแก้ไขให้ตรงจุด รวมถึงจะได้ไม่สร้างความรำคาญใจในขณะขับขี่ให้ตัวคุณเองด้วยครับ เราไปดูกันว่ารถที่มีอาการ เครื่องยนต์สั่น เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

4 อาการเครื่องยนต์สั่น

1. เกิดอาการสั่นเมื่อคุณหยุดรถ
รถของคุณมีอาการสั่นทุกครั้งที่คุณหยุดรถ ในขณะที่รถเดินเบาคุณรู้สึกเหมือนรถมีแรงสั่นสะเทือน อาการดังกล่าวสามารถบ่งบอกถึงปัญหาของเครื่องยนต์ได้เช่นกัน สาเหตุหนึ่งของรถสั่นขณะเดินเบาหรือจอดรถไว้นิ่งๆ อาจมาจาก ตัวยึดเครื่องยนต์หลวม เพราะตัวยึดเครื่องยนต์คือตัวเชื่อมต่อระหว่างเครื่องยนต์และรถของคุณ

ตัวยึดเครื่องยนต์จะช่วยลดแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากเครื่องยนต์ของคุณไว้อย่างปลอดภัย เมื่อตัวยึดเครื่องเสื่อมสภาพ คุณอาจจะรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน หรือชิ้นส่วนอื่นในเครื่องยนต์มีปัญหา เช่น หัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงชำรุด, หัวเทียนชำรุด, สายพานราวลิ้นไม่ดี ปัญหาเครื่องยนต์เหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้รถสั่น ควรนำรถไปพบช่างผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบสภาพรถ อย่างละเอียดและแก้ไขปัญหาทันที

2. เกิดอาการสั่นเมื่อเร่งความเร็ว
รถสั่นเมื่อเร่งความเร็ว อาจเกิดจากตัวยึดเครื่องยนต์หลวมหรือชำรุด เมื่อฐานยึดเครื่องยนต์ที่ชำรุดและหลวม จะไม่สามารถดูดซับแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากเครื่องยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อาการรถสั่น เมื่อเหยียบคันเร่ง ก็อาจเกิดจากระบบบังคับเลี้ยวและระบบกันสะเทือน

การตั้งศูนย์ถ่วงล้อที่ไม่ตรงแนว ก็อาจทำให้พวงมาลัยสั่นเมื่อคุณเร่งความเร็วได้ ปัญหาทั้งสองนี้จะมีอาการรถสั่นลักษณะคล้ายกัน แต่มีวิธีแก้ไขที่แตกต่างกันมาก ดังนั้นควรนำรถไปพบช่างผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบสภาพรถ อย่างละเอียดและแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด

 

3. เกิดอาการสั่นเมื่อเหยียบเบรก
เมื่อเท้าเหยียบลงแป้นเบรกรถมีอาการสั่นทั้งคัน โดยเฉพาะเหยียบเบรกขณะรถวิ่งด้วยความเร็วสูง ปัญหาดังกล่าวหากไม่รีบไปตรวจสภาพรถและแก้ปัญหาอาจทำให้คุณเสี่ยงต่ออุบัติเหตุได้ รถสั่นเมื่อคุณเหยียบเบรก อาจบ่งบอกถึงปัญหาของจานเบรกที่บิดเบี้ยว ผ้าเบรกที่สึกหรอ หรือน้ำมันเบรกหล่อลื่นไม่เพียงพอ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของการเบรก ดังนั้นควรนำรถไปพบช่างผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบสภาพรถและแก้ไขปัญหาทันที

4. เกิดอาการสั่นเมื่อขับด้วยความเร็วสูง
อาการรถสั่นเมื่อขับด้วยความเร็วสูงหรือพวงมาลัยสั่น แสดงว่ารถของคุณอาจมีการตั้งศูนย์ล้อผิดตำแหน่ง หรือยางรถยนต์ไม่มีความสมดุลไม่ถูกต้อง เพราะในขณะที่ล้อไม่ตรงตำแหน่ง ก็จะทำให้ส่วนประกอบของระบบกันสะเทือนทำมุมไม่ถูกต้อง ความไม่สมดุลของยางจะเกิดขึ้น เมื่อน้ำหนักรถของคุณไม่ได้กระจายอย่างเหมาะสมบนยางทั้งสี่เส้น หากปล่อยไว้สามารถทำให้ยางรถยนต์เสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควร ทำให้เกิดสภาพการขับขี่ที่เป็นอันตรายอีกด้วย

เครื่องยนต์สั่น เกิดจากสาเหตุอะไร ?

1. ยางแท่นเครื่องเสื่อม
สาเหตุ
อีกหนึ่งสาเหตุยอดนิยมที่ทำให้เกิดอาการเครื่องสั่น ขณะอยู่ในช่วงรอบเดินเบา อาจเกิดจากยางแท่นเครื่องชำรุด เนื่องจากยางแท่นเครื่องมีหน้าที่ดูดซับแรงสั่นสะเทือนขณะที่เครื่องกำลังหมุน เมื่อใช้งานไปนาน ๆ จะเกิดอาการเสื่อมหรือฉีกขาด ทั้งนี้ หากแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเหยียบคันเร่งให้รอบเครื่องสูงขึ้น อาการสั่นจะหายไปก็จริง แต่อาจทำให้ลูกยางแท่นเครื่องขาดได้

วิธีดูแลและแก้ไข
ถ้ายางแท่นเครื่องชำรุด ควรให้ช่างเปลี่ยนยางแท่นเครื่องใหม่ ซึ่งโดยปกติแล้ว เมื่อมีอายุการใช้งานครบ 100,000 กิโลเมตร ควรเปลี่ยนใหม่ แต่ถ้ารถของคุณไม่ได้ใช้งานหนัก หรือเห็นว่ายางแท่นเครื่องยังมีสภาพดีอยู่ อาจจะใช้งานต่ออีกสักพักแล้วค่อยเปลี่ยนใหม่ก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น เมื่อเจอทางขรุขระ, ลูกระนาด, หลุม, หรือเศษหินเกลื่อนกลาดอยู่ตามพื้นถนน ควรลดความเร็วลง หรือใช้ความเร็วต่ำ

2. หัวเทียนเสื่อมสภาพ/ หัวเทียนสูบใดสูบหนึ่งไม่ทำงาน
สาเหตุ
หากรถของคุณมีอาการอาการสั่นจากเครื่องยนต์ เดินไม่เรียบ หรือสตาร์ตติดยาก เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากหัวเทียนชำรุด เพราะหัวเทียนมีหน้าที่จุดระเบิดและส่งกระแสไฟ เพื่อทำให้เกิดการระเบิดจนผลักให้ลูกสูบเคลื่อนที่ขึ้น-ลง จนสามารถขับเคลื่อนเครื่องยนต์ได้ หากเสื่อมสภาพหรือมักเรียกกันว่าหัวเทียนบอด มักจะเกิดอาการดังกล่าว เนื่องจากหัวเทียนจุดประกายไฟไม่สม่ำเสมอนั่นเอง

วิธีดูแลและแก้ไข
เมื่อรถของคุณมีอาการเช่นนี้ ให้ลองสังเกตหัวเทียนว่ามีสภาพเป็นอย่างไร หากสึกกร่อน หรือเต็มไปด้วยคราบเขม่า, คราบน้ำมัน ควรเปลี่ยนใหม่ทันที ซึ่งเราขอแนะนำว่าให้เปลี่ยนใหม่พร้อมกันทุกหัว เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น (แล้วแต่จำนวนกระบอกสูบหรือรูปแบบเครื่องยนต์ เช่น Twin Spark ก็จะใช้หัวเทียนมากหน่อย)

3. ลิ้นปีกผีเสื้อสกปรก
สาเหตุ
ลิ้นปีกผีเสื้อสกปรก เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้รอบเครื่องยนต์สวิง ไม่นิ่ง และสั่น เนื่องจากปีกผีเสื้อมีหน้าที่ควบคุมอากาศที่เข้ามาในห้องเผาไหม้ เมื่อใช้งานไปนาน ๆ จะมีคราบน้ำมัน, คราบเขม่า และฝุ่นละอองมาเกาะ ซึ่งนอกจากจะมีส่วนทำให้เครื่องยนต์ทำงานไม่ราบเรียบแล้วยังและกินน้ำมันขึ้นกว่าปกติด้วย

วิธีดูแลและแก้ไข
ควรถอดลิ้นปีกผีเสื้อออกมาล้างทำความสะอาด โดยอาจใช้บริการศูนย์บริการ หรือทำด้วยตัวเองก็ได้หากมีทักษะและเครื่องมือ เพราะไม่ต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม เมื่อลิ้นปีกผีเสื้อมีอายุการใช้งานประมาณ 20,000-30,000 กิโลเมตร ควรนำมาทำความสะอาด เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น

4. สายท่อ Vacuum รั่ว
สาเหตุ
อีกสาเหตุหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ หากรถของคุณมีอาการสั่น, รอบเดินเบาไม่นิ่ง, จะดับไม่ดับแหล่ และต้องคอยเร่งเครื่องตลอดเวลานั้น อาจเกิดจากสายท่อ Vacuum รั่วในจุดใดจุดหนึ่ง เนื่องจากท่อ Vacuum มีหน้าที่ช่วยเร่งไฟจุดระเบิดในรอบเดินเบา ให้เครื่องยนต์ไม่สั่น

วิธีดูแลและแก้ไข
เบื้องต้น ให้ตัดปลายสายที่ปริแตกออกก่อน แล้วเสียบกลับคืนใหม่ แต่ถ้ายังพบปัญหาเดิม ควรเปลี่ยนสายท่อ Vacuum ใหม่ “ทุกเส้น” ในเครื่องยนต์ เพราะหากมีเส้นหนึ่งแตกแล้ว เส้นอื่น ๆ ต้องปริแตกตามอย่างแน่นอน

5. มอเตอร์ควบคุมรอบเดินเบาสกปรก
สาเหตุ
มอเตอร์ควบคุมรอบเดินเบา หรือไอเดิ้ล วาล์ว (Idle Speed Control) จะทำหน้าที่ควบคุมปริมาณการไหลของอากาศ ส่งผลต่อรอบเดินเบา โดยอุปกรณ์นี้นี้จะควบคุมรอบเดินเบาไม่ให้เครื่องรอบตกนั่นเอง และเมื่อเกิดสิ่งสกปรกอุดตัน ไอเดิ้ล วาล์ว จะเกิดอาการติดขัดระหว่างการทำงานได้

วิธีดูแลและแก้ไข
วิธีการแก้ไขนั้นไม่ยาก เมื่อสกปรกก็ต้องนำมาล้างและทำความสะอาดใหม่ แต่ถ้ายังพบปัญหาเดิม ๆ อยู่ ควรเปลี่ยนไอเดิ้ล วาล์ว ใหม่จะดีที่สุด เพื่อตัดปัญหาเครื่องยนต์สั่นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อไหร่ที่รถของคุณเกิดอาการ เครื่องยนต์สั่น ผิดปกติ หากตรวจเช็คเบื้องต้นแล้วไม่แน่ใจ การแก้ไขปัญหาที่ปลอดภัยที่สุดควรนำรถเข้าศูนย์ตรวจเช็คโดยช่างผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความแม่นยำและจะได้แก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เป็นปกติของการใช้งานเครื่องยนต์ เมื่อเวลาผ่านไปภายในรถทุกชิ้นก็เสื่อมสภาพไปตามการใช้งาน ดังนั้น จึงต้องดูแลรักษาเครื่องยนต์อยู่เสมอเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่บนท้องถนน และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาจุกจิกกวนใจระหว่างขับขี่ด้วยครับ

รู้เรื่องรถ

Visitors: 77,430