ทำความรู้จักช่วงล่างรถยนต์

ผู้ที่ใช้รถเป็นประจำเคยสังเกตกันบ้างไหมครับว่า รถยนต์ของคุณนั้นมีอาการผิดปกติอะไรรึเปล่า โดยเฉพาะ ช่วงล่างรถยนต์ ซึ่งเป็นส่วนที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับตัวรถ

โดยปกติแล้วผู้ใช้ที่รักในการขับขี่และใช้รถอย่างทะนุถนอมนั้น มักจะตรวจเช็ครถยนต์กันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีหลายคนที่ใช้รถเป็นประจำแต่ไม่เคยใส่ใจและมองข้ามจุดนี้ไป รถยนต์ก็มักจะเสื่อมสภาพตามการใช้งาน รวมถึงผู้ใช้บางคนยังไม่รู้ว่า ช่วงล่างของรถยนต์คือส่วนไหนบ้าง

ไม่รู้วิธีการสังเกตว่าอาการผิดปกติแบบไหนมาจาก ช่วงล่างรถยนต์ จึงทำให้ปล่อยปละละเลย จนมารู้อีกทีก็ตอนที่รถใกล้จะพังแล้วนั่นแหละครับ ก่อนที่จะสายเกินแก้ เราไปรู้จักกับช่วงล่างรถยนต์ และวิธีเช็คอาการผิดปกติกันเลยดีกว่าครับ

 

 

ช่วงล่างรถยนต์ คือส่วนไหน ? ประกอบด้วยอะไรบ้าง ?

ถ้าให้อธิบายกันง่ายๆ ช่วงล่างรถยนต์ ก็คือ ส่วนประกอบด้านล่างของรถทั้งหมด โดยไม่นับรวมส่วนตัวถังของรถยนต์ ซึ่งเป็นส่วนที่รองรับน้ำหนักทั้งหมดของตัวรถยนต์ และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ขับขี่รถได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง ทีนี้ก็มาดูกันว่าส่วนประกอบมีอะไรบ้าง

1. ลูกหมาก ถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญของช่วงล่างรถยนต์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่คอยทำให้รถยนต์ขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลต่อระบบบังคับเลี้ยวของรถยนต์ โดยมีลูกหมากที่นิยมใช้ทั้งหมด 5 ประเภทดังนี้

- ลูกหมากคันชัก
เป็นลูกหมากที่ยึดติดกับดุมล้อในส่วนของระบบบังคับเลี้ยว มีหน้าที่ในการปรับสมดุลของทิศทางล้อเมื่อเข้าโค้ง

- ลูกหมากแร็คช์
เป็นลูกหมากที่ช่วยถ่ายทอดแรงจากการหมุนเลี้ยว มาเป็นการเคลื่อนที่ในแนวตรง

- ลูกหมากปีกนกบน และลูกหมากปีกนกล่าง
มีความสำคัญในการทำให้ล้อเคลื่อนที่ไปตามทิศทาง ได้อย่าง อิสระ ทั้งพื้นผิวปกติหรือทางต่างระดับ

- ลูกหมากกันโคลง
เป็นลูกหมากที่ทำหน้าที่ช่วยรับแรงกระแทกเพื่อให้เกิดความนุ่มนวลของตัวรถ

- ลูกหมากคันส่งกลาง
เป็นลูกหมากที่มีหน้าที่ถ่ายทอดแรงจากการเลี้ยวมาเป็นแนวตรง เช่นเดียวกับ ลูกหมากแร็คช์

2. โช้คอัพ อีกหนึ่งอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยในการควบคุมการยุบและยืดตัวของสปริงและแหนบ ช่วยรองรับแรงกระแทก พร้อมลดการสะเทือนของรถ ซึ่งถ้าขาดส่วนนี้ไป ก็จะทำให้การทรงตัวรถนั้นยากขึ้น เมื่อขับขี่บนถนนที่มีความขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อเยอะ

3. ชุดคันส่ง เป็นชุดอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับรถยนต์ ทำให้รถมีความเสถียรในการขับเคลื่อน เกิดการควบคุมได้ง่ายหากรถเสียหลัก และยังช่วยเพิ่มสมรรถนะที่มีประสิทธิภาพให้กับยางรถยนต์ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการลดแรงสะเทือนได้เป็นอย่างดีด้วย

4. เหล็กกันโคลง เหล็กกันโคลงมีหน้าที่ในการลดการสั่นสะเทือน และการรักษาสมดุลที่ดีขึ้นของรถขณะเบรกอย่างกะทันหัน หรือการเลี้ยวโค้งอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้รถยึดเกาะถนนได้เป็นอย่างดี

5. สปริง ทำหน้าที่ในการซับแรงกระแทกจากถนนที่เข้าสู่โครงสร้างรถ ซึ่งการกระเด้งของสปริงนั้นก็จะขึ้นอยู่กับน้ำหนักของตัวรถ โดยสปริงจะเด้งมากน้อยขึ้นอยู่กับน้ำหนักของตัวรถด้วย

ช่วงล่างรถยนต์ มีหน้าที่สำคัญอย่างไร ?

หน้าที่หลักของช่วงล่างรถยนต์ทำหน้าที่รองรับ การสั่นสะเทือนระหว่างผิวถนนกับตัวรถ เพื่อให้รถยนต์เกาะถนน ถ้าหากช่วงล่างไม่ดีเวลาตกหลุมอาจทำให้ช่วงล่างเสียการทรงตัวได้นั่นเอง โดยแบ่งเป็นดังนี้

  1. รองรับน้ำหนักของตัวรถยนต์
  2. รองรับและป้องกันแรงสั่นสะเทือน
  3. รักษาสมดุลของพื้นผิวถนนและตัวรถ
  4. ทำหน้าที่เป็นตัวเบรคหรือชะลอ

รูปแบบของระบบช่วงล่างรถยนต์ มีอะไรบ้าง ?

จำแนกอย่างง่ายก็จะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 แบบ ก็คือแบบตายตัว แบบอิสระ และแบบกึ่งอิสระ

1. ช่วงล่างแบบตายตัว (Dependent Suspension)

เป็นระบบช่วงล่างเก่าแก่ดั้งเดิม ระบบช่วงล่างแบบนี้อาศัยน้ำหนักจากชุดช่วงล่างเอง ในการทำให้ล้อเกาะถนนอยู่ตลอดเวลา โดยมากแล้วจะออกแบบมาให้ตอบสนองกับระบบเพลาแข็ง (axle) โดยมีชิ้นส่วนที่ยึดติดกับชุดเพลาแล้วเกาะติดกับตัวถังรถ เพื่อซับแรงกระแทก หรือแรงกระทำที่เกิดขึ้น ซึ่งข้อดีก็คือไม่ต้องมีการตั้งค่าและบำรุงรักษาอะไรมาก

2. ช่วงล่างแบบอิสระ (Independent Suspension)

เป็นระบบช่วงล่างที่ปัจจุบันนิยมใช้กันในรถยนต์มากที่สุด เนื่องจากมีความสามารถในการตอบสนองการขับขี่ดี และมอบความนุ่มนวลในการขับขี่ได้มากกว่า ข้อดีของช่วงล่างแบบนี้ก็คือสามารถทำให้การทำงานของล้อทั้ง 4 เป็นอิสระออกจากกัน ดังนั้นถ้าหากว่าล้อใดล้อหนึ่งมีการซับแรงกระแทกจากถนน ก็จะไม่ส่งผลกับอีก 3 ล้อที่เหลือ จึงทำให้รถสามารถเกาะถนนไปได้ ช่วยให้มีความมั่นใจในการขับขี่ และมีความนุ่มนวลมากกว่านั้นเอง

3. ช่วงล่างแบบกึ่งอิสระ (Semi Dependent Suspension)

เป็นระบบช่วงล่างแนวคิดใหม่ ที่มีการใช้คานแข็งด้านล่างคล้ายกับในช่วงล่างแบบตายตัว แต่จะแทนที่ด้วยตัวซับเฟรมที่ออกแบบให้ล้ออยู่อิสระทางด้านปลาย แล้วติดตั้งโช้คอัพไว้ควบคุมล้อตรงบริเวณส่วนปลายแขนของซับเฟรม หรือที่เรียกว่า Trailing Arm

โดยสิ่งที่เหมือนกับช่วงล่างตายตัวก็คือ ค่ามุมต่าง ๆ จะถูกเซ็ตไว้ให้คงที่ในการใช้งาน โดยจะมีเพียงช่วงอาร์มเท่านั้นที่สามารถเคลื่อนที่ในแนวตั้งได้ ซึ่งข้อดีของช่วงล่างแบบนี้ก็คือมีต้นทุนที่ไม่แพงและติดตั้งง่าย จึงทำให้นิยมนำมาติดตั้งกันในกลุ่มของรถยนต์นั่งขนาดเล็ก หรือพวกอีโคคาร์

ช่วงล่างรถยนต์เสียงดัง หรือมีปัญหาเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง ?

1. ลูกหมากเสื่อม

ลูกหมากปีกนก     : ถ้าจุดนี้เสียจะได้ยินเสียงดังกุกๆ ขณะขับ และทำให้คุมรถยาก

ลูกหมากคันชัก     : หากมีปัญหาจุดนี้จะได้ยินเสียง และรู้สึกได้ว่ามีระยะการเลี้ยวรถเพิ่มกว่าปกติ

ลูกหมากแร็ค        : หากมีปัญหาจุดนี้จะได้ยินเสียง และรู้สึกได้ถึงอาการขยับอย่างผิดปกติของพวงมาลัย และรถระยะการเลี้ยวรถเพิ่มกว่าปกติ

ลูกหมากกันโคลง : หากมีปัญหาจุดนี้จะได้ยินเสียงดังเมื่อรถตกหลุมหรือรถเอียง อายุการใช้งานใกล้เคียง กับโช้คอัพ

2. เกิดจาก แร็คพวงมาลัย

แร็คพวงมาลัยจะเสียได้ก็ต้องเกิดจากการ คด-งอ หรือเฟืองรูด ส่วนมากที่เสียบ่อยจะเป็นบู๊ชปีกนก ลูกหมากปีกนก ลูกหมากคันชัก ลูกหมากปลายแร็ค ยางรัดแร็ค อาการจะมีเสียงดังเวลาเลี้ยว หรือมีเสียง กุกกัก เวลาขึ้นเนิน แนะนำให้เปลี่ยนเฉพาะส่วนที่เสีย เพราะบางร้านหรือศูนย์ฯจะให้เปลี่ยนหลายตัวควบคู่กันไป โดยเฉพาะลูกหมากคันชัก ต้องเช็คให้ดี เพราะมีราคาค่อนข้างสูง

3. ลูกปืนล้อแตก

เกิดจากการใช้งานยาวนานเฉลี่ย 100,000 กม. ขึ้นไป แต่ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานของรถด้วย สาเหตุมาจาก การกระแทกรุนแรงสะสม เช่น ตกหลุมแรงๆ ขึ้นลูกระนาดไม่ชะลอความเร็ว หรือไม่ชะลอความเร็วในทางขรุขระ สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกปืนเกิดการชำรุด คือ รถมีเสียงหอน เข้ามาในห้องผู้โดยสาร ลักษณะเสียงจะ อื้อๆ ยิ่งขับเร็วก็ยิ่งเสียงดัง

สำหรับผู้ใช้รถทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นรถเล็กหรือรถใหญ่ก็มีส่วนประกอบที่สำคัญด้วยกันทุกคัน ฉะนั้นจะต้องทำความเข้าใจและศึกษาส่วนประกอบต่างๆไว้ เพราะการขับขี่รถยนต์ในทุกวันนี้ หากมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ชำรุด ไม่ว่าจะเป็น ช่วงล่างรถยนต์ หรือส่วนประกอบใดก็ตามแต่ อาจจะส่งผลให้รถของคุณไม่สามารถใช้งานได้ อย่าลืมหมั่นตรวจเช็คกันบ่อยๆนะครับ

รู้เรื่องรถ

Visitors: 66,850