ช่วงล่างรถยนต์ ตรวจเช็คยังไง

รถยนต์หนึ่งคันมีส่วนสำคัญมากมายประกอบเข้าด้วยกัน ช่วงล่างรถยนต์ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เจ้าของรถยนต์มักมองข้ามไป เพราะการที่จะตรวจสอบช่วงล่างรถยนต์ด้วยตัวเองนั้นค่อนข้างจะทำยากหน่อย

เพราะต้องมีเครื่องมือและอาศัยความชำนาญของช่างยนต์เป็นพิเศษ รวมถึงบางคนก็อาจจะยังไม่ทราบว่าจะต้องเริ่มตรวจเช็คจากจุดไหน ช่วงล่างรถยนต์ ตรวจเช็คยังไง

แต่สิ่งที่เจ้าของรถยนต์สามารถทำได้ และเป็นวิธีที่ทำได้ไม่ยากแม้จะไม่ได้เป็นช่างที่มีความรู้ความชำนาญ และสามารถตรวจเช็คได้โดยไม่ต้องมีเครื่องมือใดๆ นั่นก็คือ การสังเกตจากอาการของรถยนต์ที่จะบ่งบอกให้คุณรู้เองว่าช่วงล่างรถยนต์กำลังมีปัญหาหรือไม่ แต่อาการแบบไหนบ้างล่ะที่บ่งบอกว่าช่วงล่างรถยนต์กำลังมีปัญหา ไปดูได้จากบทความนี้ เราจะแนะนำวิธีง่ายๆ ในการสังเกตอาการผิดปกติเบื้องต้นด้วยตัวคุณเอง

ส่วนประกอบสำคัญ ช่วงล่างรถยนต์ มีอะไรบ้าง

1.ลูกหมาก ถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญในช่วงล่างของรถยนต์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่คอยทำให้รถยนต์ขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพและส่งผลต่อระบบบังคับเลี้ยวของรถยนต์โดยเฉพาะ โดยมีลูกหมากที่นิยมใช้ทั้งหมด 5 ประเภทดังนี้
ลูกหมากคันชัก เป็นลูกหมากที่ยึดติดอยู่ตรงดุมล้อในส่วนของระบบบังคับเลี้ยว มีหน้าที่ในการปรับสมดุลของทิศทางล้อเมื่อวิ่งเข้าโค้ง

ลูกหมากแร็คซ์ เป็นลูกหมากที่ช่วยถ่ายทอดแรงจากการหมุนเลี้ยวมาเป็นเคลื่อนที่ในแนวตรง
ลูกหมากปีกนกบนและลูกหมากปีกนกล่าง มีความสำคัญในการทำให้ล้อเคลื่อนที่ไปตามทิศทางต่างๆ ได้อย่างอิสระ ทั้งทางพื้นผิวสภาพปกติหรือทางต่างระดับที่ความลาดชัน

ลูกหมากกันโคลง เป็นลูกหมากที่ทำหน้าที่ช่วยรับแรงกระแทกเพื่อให้เกิดความนุ่มนวลของตัวรถยนต์
ลูกหมากคันส่งกลาง เป็นลูกหมากที่มีหน้าที่ถ่ายทอดแรงจากการเลี้ยวมาเป็นแนวตรง เช่นเดียวกับลูกหมากแร็คซ์

ช่วงล่างรถยนต์

2.โช๊คอัพ เป็นอีกชิ้นส่วนสำคัญที่ช่วยในการควบคุมการยุบและยึดตัวของสปริงและแหนบ ช่วยให้รถรับแรงกระแทกและลดการสั่นสะเทือนของรถ อาการที่ควรสังเกตคือเวลารถตกหลุมแล้วรถยวบยาบทำให้เกิดการเบรกบ่อย และจะได้ยินเสียงเอี๊ยดอ๊าดของสปริง

3.ชุดคันส่ง เป็นชุดอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับรถยนต์ เป็นชิ้นส่วนสำคัญในระบบเลี้ยว เช่น ลูกหมากแร็ค ลูกหมากกันโคลง แกนช่วยเลี้ยว ขาไก่พวงมาลัยชิ้นส่วนเหล่านี้ช่วยดึงบังคับล้อให้หมุนเลี้ยว ทำให้รถมีความเสถียรในการขับและควบคุมรถได้ง่าย ช่วยเพิ่มสมรรถนะที่มีประสิทธิภาพให้กับยางรถยนต์ และยังมีหน้าที่ในการลดแรงสะเทือนได้เป็นอย่างดีด้วย ซึ่งอาการที่ควรสังเกตรู้สึกได้ว่าพวงมาลัยมีอาการสั่น ถ้าบังคับรถจะรู้สึกว่าต้องหมุนพวงมาลัยมากขึ้น และมีเสียงดังมาจากพวงมาลัยเวลาหมุนหรือเลี้ยวรถ

ช่วงล่างรถยนต์ ตรวจเช็คยังไง

1.เกิดเสียงดังเวลาขับผ่านถนนขรุขระ
ในจังหวะที่ขับผ่านเนินชะลอความเร็วซึ่งอาจจะเป็นเนินเล็กๆ แล้วได้ยินเสียงกึกกักใต้ท้องรถ ถ้าเสียงเกิดขึ้นมาในจังหวะนี้เป็นไปได้ว่าเป็นเสียงที่เกิดจากความผิดปกติของบูชปีกนก

2.มีเสียงดังเวลาเบรค
ถ้าเวลาเบรคแล้วมีเสียงดังเอี๊ยดๆ จี๊ดๆ เหมือนเหล็กสีกัน ส่วนใหญ่เป็นเสียงเตือนว่าผ้าเบรคอยู่ในระดับที่ต่ำมากแล้ว ควรเปลี่ยนได้แล้ว แต่ถ้าเป็นเสียงดังครืดๆ อาจเป็นไปได้ว่าผ้าเบรคและจานเบรคสกปรกซึ่งอาจเกิดจากฝุ่นที่มาจากผ้าเบรคนั่นเอง แต่ถ้าดังหลังจากที่ขับรถลุยน้ำมา นั่นเป็นเพราะผ้าเบรคเปียกน้ำ เมื่อขับไปสักพักเสียงก็จะหายไปเอง

3.เริ่มบังคับทิศทางยากขึ้น
ขับขี่ในทางตรงแล้วพวงมาลัยมีอาการเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง แสดงว่าบูชปีกนกอาจจะมีปัญหา และถ้าขับขี่ในทางตรง แต่รู้สึกว่าล้อไม่ตรง ไม่สามารถควบคุมให้รถนิ่งได้ แสดงว่าลูกหมากแร๊คอาจจะมีปัญหา

4.เกิดเสียงดังจังหวะที่เลี้ยวหรือตกหลุม
เวลาที่เราขับรถด้วยความเร็วต่ำ ในจังหวะที่มีการหักเลี้ยวพวงมาลัย หรือในจังหวะที่ล้อตกหลุม หากได้ยินเสียงกึกๆ จากใต้ท้องด้านหน้าของรถ เป็นไปได้ว่าลูกหมากคันชัก-คันส่ง หรือลูกหมากปลายแร็ค (Rack and Pinion) หรือที่เรียกกันว่าไม้ตีกลองอาจจะหลวม และอีกจุดที่เป็นไปได้ก็คือ เพลาขับ หากยางหุ้มเพลาขาดเป็นเวลานานแล้วก็จะมีเสียงกุกกักๆ ได้เหมือนกัน

เช็กช่วงล่าง

ช่วงล่างรถยนต์ ต้องเปลี่ยนเมื่อไหร่

ชิ้นส่วนของช่วงล่าง ไม่ว่าจะเป็นลูกหมากต่างๆ เช่น ลูกหมากปีกนก ลูกหมากแร็ค ลูกหมากกันโคลง ย่อมมีหน้าที่ในการทำงานของมัน รวมไปถึงอายุการใช้งาน ซึ่งเมื่อเริ่มจะเสื่อมสภาพ ก็จะแสดงอาการออกมา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ ประสิทธิภาพในการควบคุมที่ส่งผลไปถึงความรู้สึกของผู้ขับขี่

ซึ่งอาจรู้สึกได้ถึงความรู้สึกผิดปกติในการบังคับและควบคุมทิศทางรถ อันนี้ก็ต้องหมั่นดูแลและตรวจสอบการใช้งานตามระยะ รวมถึงสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นด้วยครับ เพราะหากปล่อยให้อาการผิดปกติเกิดขึ้นโดยไม่ดูแล จนเกิดปัญหาชิ้นส่วนช่วงล่างเสื่อมสภาพขึ้นมา บอกได้เลยครับว่าอันตรายแน่ๆ

โดยปกติแล้วเวลาที่ควรสังเกตและควรเปลี่ยนในระยะ 80,000-100,000 กม. แต่ทางที่ดีควรสังเกตชิ้นส่วนเหล่านี้เป็นประจำเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อรถยนต์และคนใช้รถ การเสื่อมสภาพของชิ้นส่วนต่างๆ มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่างรวมถึงสภาพถนนและพฤติกรรมการขับขี่ ควรตรวจสอบชิ้นส่วนต่างๆ ทุก 4-6 เดือน

Visitors: 64,563