กระจกรถยนต์ต้องเลือกแบบไหน

กระจกรถยนต์ ต้องเลือกแบบไหน ดูแลรักษาอย่างไรให้ใช้งานได้นาน

กระจกรถยนต์ ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะมีหน้าที่หลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะป้องกันฝน ป้องกันลม หรือฝุ่นละอองต่างๆ ที่จะปลิวเข้ามาโดนคนขับและผู้โดยสาร รวมถึงเป็นตัวกั้นระหว่างห้องโดยสารและภายนอก เพื่อให้ระบบปรับอากาศทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กระจกนั้นมีความสำคัญมาก เพราะมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ถ้าหากผู้ใช้รถดูแลรักษาได้ไม่ดี อายุการใช้งานของกระจกนั้นจะสั้นลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งปกติแล้วกระจกที่ใช้สำหรับรถยนต์นั้น จะเป็นกระจกรถยนต์นิรภัยทั้งหมด เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการแตกร้าว ทั้งจากแรงปะทะของลมขณะแล่นด้วยความเร็ว การบิดของตัวถัง รวมถึงการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ จึงต้องมีความแข็งแรงเป็นพิเศษ

ดังนั้นเราจึงต้องรู้จักวิธีการดูแลรักษากระจกรถยนต์ ว่าทำอย่างไรให้ใช้งานได้อย่างยาวนาน หรือหากมีเหตุให้กระจกรถยนต์ได้รับความเสียหายจนต้องเปลี่ยนใหม่ จะต้องเลือกแบบไหนให้ปลอดภัยต่อผู้ขับขี่และผู้โดยสาร

กระจกรถยนต์ มีทั้งหมดกี่ชนิด

กระจกรถยนต์มีความสำคัญอย่างมากต่อผู้ขับขี่รถยนต์และผู้โดยสาร หากรถยนต์มีการติดตั้งกระจกรถยนต์ที่ด้อยคุณภาพอาจส่งผลร้ายต่อร่างกายของบุคคลภายในห้องโดยสาร เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุ กระจกรถยนต์มักได้รับแรงกระแทกจนแตกเสียหาย เนื้อกระจกที่แตกอาจสร้างบาดแผลฉกรรจ์แก่คนในห้องโดยสารได้ ปัจจุบันกระจกรถยนต์ที่เหมาะกับการใช้งานทั่วไปมี 2 ชนิด ได้แก่

1.กระจกเทมเปอร์ (Tempered)
มีความหนาประมาณ 5 มิลลิเมตร กระจกชนิดนี้จะได้รับความร้อนที่ 650-700 องศาเซลเซียส และจะถูกทำให้ผิวหน้าเย็นตัวลงอย่างรวดเร็วเพื่อให้เกิดแรงอัด อุณหภูมิที่แตกต่างกันจะทำให้เกิดแรงอัดซึ่งช่วยต้านแรงจากภายนอก เวลาแตกจะกลายเป็นเม็ดเล็กๆ เกาะกันอยู่ หากแตกออกมาก็จะมีความแหลมคมน้อยเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อคนที่อยู่ในรถ กระจกชนิดนี้ยังสามารถแยกย่อยเป็นอีก 2 ชนิด คือ

Zone-Tempered คุณสมบัติของกระจกประเภทนี้ คือ เวลาเกิดเรื่องทำให้กระจกหน้าแตกขึ้นมาตรงไหนก็แล้วแต่ มันจะแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยลามไปทั้งบาน โดยมีลักษณะการแตกแบ่งเป็นบริเวณต่างกัน แถวตอนล่าง แถวตอนกลางกระจกจะแตกเป็นผลึกหรือเม็ดโตหน่อยพอจะอาศัยมองเส้นทางได้บ้างแม้จะไม่ชัดเจนนัก ส่วนบริเวณแถวขอบกระจกจะแตกออกเป็นเม็ดเล็กๆ ขนาดย่อม เค้ามักนิยมใช้กระจกประเภทนี้ทำเป็นกระจกบังลมหน้า

กระจกบังลมหน้าแตก

Full-Tempered มีคุณสมบัติเช่นเดียวกัน คือ เวลาแตกมันจะลามไปทั้งบาน โดยมีความแตกต่างกันตรงเวลาแตกแล้วจะเป็นเม็ดเล็กๆ ทั่วทั้งแผ่น ซึ่งเค้าจะออกแบบมาไม่ให้เม็ดกระจกเหล่านี้มีความแหลมคม เพื่อไม่สร้างอันตรายต่อผู้ขับขี่หรือผู้โดยสาร อย่างไรก็ตาม ไม่ควรประมาท เพราะถึงมันจะไม่แหลมก็จริง แต่ในเรื่องความคมยังพอจะบาดได้เหมือนกันในบางเหลี่ยมมุม

2.กระจกลามิเนต (Laminate)
มีความหนา 6 มิลลิเมตร มีกระบวนการผลิตที่ต่างออกไป กระจกลามิเนตทำจากกระจกที่ถูกรีดเป็นแผ่นบางๆ แล้วเอามาประกอบกันโดยแต่ละชั้นเชื่อมด้วยฟิล์ม PVB หรือ EVA แล้วนำมารีดเพื่อให้ฟิล์มยึดติดกับกระจก แล้วนำมาอบในเตาเพื่อไล่อากาศออก ด้วยการผลิตแบบนี้ทำให้เวลากระจกแตก จะไม่มีเศษกระจกร่วงออกมาเพราะฟิล์มในแต่ละชั้นจะช่วยยึดเศษกระจกเอาไว้ ฟิล์มนี้ยังช่วยกันไม่ให้น้ำหรือลมซึมเข้ามาได้ด้วย

นอกจากนี้ลักษณะการแตกยังเป็นแบบร้าวเป็นเส้นเฉพาะบริเวณที่แตกเท่านั้น ไม่ลามไปทั้งบานเหมือนกระจกเทมเปอร์ แต่อย่างไรก็ตามกระจกนี้ก็มีวันหมดอายุ โดยสามารถสังเกตได้จากรอยฝ้าตามขอบ หรือมุมกระจก

ข้อสังเกตว่ารถของเราใช้กระจกประเภทใด

1.ให้อ่านที่มุมซ้ายหรือขวาของตัวกระจก จะมีสัญลักษณ์บอกชนิดของกระจกไว้ ว่าเป็น Laminated หรือ Tempered
2.สังเกตภายนอก หากมองที่ตัวบานกระจก (โดยเฉพาะกระจกบานหน้า)

ถ้าเป็นกระจก Tempered เนื้อกระจกจะมีลักษณะสีรุ้งๆม่วงๆทั่วบานกระจก
ถ้าเป็น Zone-Tempered จะมีสีรุ้งๆ ม่วงๆ วงใหญ่กว่าตรงจุดอื่นที่กลางของบานกระจก
แต่ถ้าเป็น Laminate จะไม่เห็นลักษณะดังกล่าวครับ

ประเภทของกระจกรถยนต์

วิธีดูแลรักษากระจกรถยนต์

เพราะกระจกรถช่วยให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวขณะที่เราขับรถ และเป็นสิ่งสำคัญของรถยนต์ที่ไม่ต่างจากเครื่องยนต์รถ ฉะนั้นจึงต้องดูแลกระจกให้ใสสะอาดอยู่เสมอ เพราะถ้าเราปล่อยให้กระจกมัว มีคราบน้ำ คราบฝุ่นเกาะติด อาจจะทำให้ตอนที่ขับรถมองอะไรไม่ชัดเจนและเกิดอุบัติเหตุได้ มาดูกันว่าวิธีในการดูแลกระจกรถต้องทำอย่างไร

1.การเช็ดกระจกรถยนต์
จะใช้น้ำยาสำหรับเช็ดกระจกรถยนต์โดยเฉพาะ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน หรือจะเป็น แอลกอฮอล์ สามารถใช้แทนน้ำยาล้างกระจกได้ แถมสะอาดเหมือนกัน แล้วยังราคาถูกอีกด้วย แต่ห้ามใช้ผงซักฟอก น้ำยาล้างจานในการทำความสะอาดกระจกเด็ดขาด

2.รักษาอุณหภูมิรถยนต์
รักษาอุณหภูมิในรถและนอกรถให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด ถ้าต้องจอดรถในที่แดดจัดให้ลดกระจกหน้าต่างทั้งสองข้างลงเล็กน้อย เพื่อให้อากาศถ่ายเท ไม่ควรเปิดแอร์เย็นจัดติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอายุการใช้งานของกระจกจะสั้นลง และไม่ควรปล่อยทิ้งให้ยางขอบกระจกเสื่อมสภาพด้วย

3.พกอุปกรณ์เช็ดฝ้ากระจกรถยนต์
กระจกรถยนต์อาจเกิดรอยฝ้าขณะขับรถโดยเฉพาะในหน้าหนาวและหน้าฝน ทำให้การมองเห็นขณะขับรถลดน้อยลง แนะนำให้พกอุปกรณ์การทำความสะอาดกระจกติดรถไปด้วย

4.การดูแลกระจกที่ติดฟิล์มกรองแสง
สำหรับกระจกรถยนต์ที่ติดฟิล์มกรองแสง น้ำที่ใช้เช็ดล้างต้องเป็นน้ำสะอาดเท่านั้น! ผ้าที่ใช้เช็ดต้องสะอาดและนิ่ม และห้ามเช็ดล้างด้วยน้ำยาล้างกระจกที่มีส่วนผสมของสารแอมโมเนียโดยเด็ดขาด

5.การดูแลที่ปัดน้ำฝน
ที่ปัดน้ำฝนก็สำคัญต่อการดูแลรักษากระจกรถยนต์ เพราะถ้าหากปัดน้ำฝนไม่ดีเวลาที่เราปัดน้ำฝนอาจทำให้กระจกรถมีรอยได้ง่าย ดังนั้นก่อนจะปัดน้ำฝนควรฉีดน้ำล้างกระจกรถก่อนเพื่อช่วยหล่อลื่นเวลาปัดก็จะง่ายขึ้นด้วย

6.ระบบไฟฟ้ากระจกรถยนต์
กระจกที่เป็นระบบไฟฟ้าการดูแลเบื้องต้นคือ ควรนำรถไปตรวจเช็คกลไกประตูอย่างน้อยปีละครั้ง ให้ฉีดน้ำยาหล่อลื่นบริเวณหัวและท้ายร่องกระจกอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ไม่ควรกดสวิตส์เปิด/ปิดพร้อมกันหลายๆ บาน สำหรับกระจกมองข้างให้พับก่อนดับเครื่องรถ และห้ามพับด้วยมือเด็ดขาด

7.ป้องกันเศษหินจากรถคันใหญ่
หลีกเลี่ยงขับรถตามท้ายรถบรรทุกคันใหญ่ๆ เพราะเศษดิน เศษหิน อาจตกใส่กระจกทำให้กระจกรถยนต์ร้าว หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายได้

ทีนี้ก็คงได้ทราบแล้วกันว่ากระจกรถยนต์นั้นมีความสำคัญอย่างไร ถึงแม้กระจกรถยนต์จะเป็นกระจกนิรภัย แต่ไม่ว่าแบบไหนก็ล้วนมีขีดจำกัดในการใช้งาน ซึ่งก็ขึ้นกับการดูแลรักษาด้วย คุณสามารถตัดสินใจในการเลือกกระจกรถยนต์ที่ตรงกับความต้องการ แต่ถ้าเปรียบเทียบมูลค่ากับความปลอดภัยต่อชีวิตแล้ว การเปลี่ยนกระจกรถยนต์อาจเป็นมูลค่าที่จ่ายครั้งเดียวและเซฟเงินส่วนการรักษาพยาบาลเป็นอย่างดีเลยครับ

Visitors: 78,292